วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2555

แอสไพรินยาธรรมดาที่ไม่ธรรมดา....หากใช้ต้องระวัง!!


ปภัสสร ผลโพธิ์
กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค


รู้ก่อนใช้แอสไพรินปลอดภัยกว่า
            ยาแอสไพริน มีชื่อสามัญว่า แอสไพริน (aspirin) มีชื่อการค้า (ยี่ห้อ) หลากหลาย เช่น แอสไพริน แอสเปนด์ เอนทราริน ทัมใจ บวดหาย บูรา ประสะบอแรด เอเอ็นที ยาแก้เด็กตัวร้อนตราหัวสิงห์ ไวคุลเด็ก เป็นต้น จัดเป็นยาในกลุ่ม “ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์” มีหลายขนาด เช่น 75 มิลลิกรัม 300 มิลลิกรัม 325 มิลลิกรัม โดยมีสรรพคุณ คือ ใช้ลดไข้ บรรเทาอาการตัวร้อนจากสาเหตุต่าง ๆ แก้ปวด บรรเทาอาการเจ็บปวดจากสาเหตุต่าง ๆ ในผู้ใหญ่ป้องกันมิให้เลือดจับเป็นลิ่ม ป้องกันการกำเริบของโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน (โรคหัวใจ)และโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน (อัมพฤกษ์-อัมพาต) และใช้รักษาโรคปวดข้อรูมาตอยด์ และแก้อักเสบ (ซึ่งต้องใช้ยาขนาดสูง และเป็นประจำ จึงอาจมีผลข้างเคียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารได้)

อาการข้างเคียงของแอสไพริน
           การใช้แอสไพรินอาจมีอาการข้างเคียงจากการใช้ยาทั้งแบบรุนแรง และไม่รุนแรง
           (1) อาการข้างเคียงชนิดรุนแรง หากเกิดขึ้นต้องหยุดยาและรีบไปพบแพทย์ทันที
เช่น
             • ถ่ายดำ ปวดท้องมาก อาเจียนเป็นเลือดหรือสีกาแฟ มึนงง สับสน (อาการเหล่านี้คือ การมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร)
             • หายใจลำบาก มีผื่นตุ่มพอง ผิวหนังหลุดลอก เป็นแผลในปากหรือจมูก เสียงดังในหู ลมพิษ หน้าบวม ตาบวม คันตามร่างกาย (อาการเหล่านี้ คือ การแพ้ยา)
             • จ้ำตามผิวหนัง ประจำเดือนมากผิดปรกติ (อาการเหล่านี้ คือ การมีเลือดออกผิดปกติ)
            (2) อาการข้างเคียงชนิดไม่รุนแรง หากเกิดขึ้นไม่จำเป็นต้องหยุดยา แต่ควรแจ้ง
แพทย์หรือเภสัชกร เช่น
             • ท้องเสีย ท้องผูก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด แสบร้อนในอกแต่ถ้าอาการรุนแรงหรือไม่ยอมหายให้ไปพบแพทย์ทันที

ข้อห้ามในการใช้แอสไพริน
            ห้ามใช้ลดไข้ แก้ปวด ในเด็กและผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ตลอดจนผู้ที่เป็นไข้หวัดใหญ่ อีสุกอีใส และโรคติดเชื้อไวรัสอื่น เพราะอาจเกิด “กลุ่มอาการรายย์” ซึ่งเป็นอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงเนื่องจากตับถูกทำลาย ทำให้สมองบวม ชัก หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้
            • ห้ามใช้ยานี้แก้ปวดเมื่อยจากการทำงานหนักหรือใช้ติดต่อกันนานกว่า 10 วัน ด้วยตนเอง เพราะเสี่ยงต่อการเกิดแผลเลือดออกในกระเพาะอาหาร และกระเพาะอาหารทะลุ
           • ห้ามใช้ยานี้หากแพ้ยาแอสไพริน ซาลิไซเลท หรือยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่ สเตียรอยด์อื่น ๆ (เช่นไอบูโพรเฟน และไดโคลฟีแนค) หรือเคยใช้ยาเหล่านี้แล้วมีผื่นหรือลมพิษ คันตามผิวหนัง หายใจลำบาก หน้าบวม ตาบวม เป็นต้น
            • ห้ามใช้ยานี้ถ้ามีปัญหาเลือดออกหยุดยาก เช่น เป็นโรคไข้เลือดออก เป็นโรค ฮีโมฟิเลีย หรือกำลังใช้ยาบางชนิดซึ่งทำให้เลือดแข็งตัวช้า เช่น วอร์ฟาริน เพราะแอสไพรินทำให้เลือดแข็งตัวช้าลงแม้ใช้ยาในขนาดต่ำ รวมทั้งไม่ควรใช้ยาแอสไพรินร่วมกับยาสเตียรอยด์และยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ อื่น ๆ เพราะทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังมียาอีกหลายชนิดที่ต้องระวังการใช้ร่วมกับแอสไพริน เช่น ยาบางชนิดที่ใช้ในโรคเบาหวาน เกาต์ ลมชัก มะเร็ง หรือความดันโลหิตสูง จึงต้องแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเสมอว่าท่านกำลังใช้ยาอะไรอยู่
            • อย่าใช้ยานี้ก่อนปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร หากกำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร เป็นโรคกระเพาะอาหาร ตับ ไต เบาหวาน โลหิตจาง หอบหืด ริดสีดวงจมูก หรือเป็นผู้สูงอายุ เพราะมีความเสี่ยงสูงจากอันตรายของแอสไพริน
           ทั้งนี้หญิงมีครรภ์ ไม่ควรใช้แอสไพรินเพราะอาจเป็นอันตรายต่อปอดและหัวใจของทารก ส่วนหญิงให้นมบุตร ห้ามใช้ยานี้ เพราะเด็กจะได้รับยาผ่านน้ำนมแม่ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการรายย์ได้

ข้อควรปฏิบัติ ขณะที่ใช้แอสไพริน
            • ไม่ควรดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ เพราะเพิ่มความเสี่ยงทำให้เลือดออกในกระเพาะอาหารได้ง่าย
            • ถ้าต้องผ่าตัดหรือถอนฟัน ต้องแจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบว่ากำลังกินแอสไพรินอยู่• เด็กหรือวัยรุ่นที่ต้องใช้แอสไพรินอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาโรคบางชนิดตามแพทย์สั่ง หากมีไข้ให้หยุดกินแอสไพริน และรีบไปพบแพทย์
           • ผู้ที่ใช้แอสไพรินติดต่อกันเป็นเวลานาน มีโอกาสเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ง่าย (แม้จะกินยาพร้อมอาหารหรือยาลดกรด หรือดื่มน้ำตาม เพื่อป้องกันกระเพาะอาหารแล้วก็ตาม) ดังนั้น จึงต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์

วิธีใช้ยาที่ถูกต้อง
           • กินพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันทีและดื่มน้ำตามอย่างน้อย 1 แก้ว (250 ซีซี) เพื่อลดการระคายเคืองกระเพาะอาหารเช่นอาการแสบท้อง
           • ภายใน 10 นาทีหลังกินแอสไพรินไม่ควรเอนตัวลงนอนเพราะยาอาจค้างในหลอดอาหาร ทำให้ระคายเคืองเกิดเป็นแผลได้
           • แอสไพรินชนิดผง ควรผสมน้ำ 1 แก้วแล้วดื่ม ไม่ควรเทผงยาใส่ปากโดยตรง เพราะผงยาอาจติดค้างในช่องปากและหลอดอาหาร ทำให้ระคายเคืองเกิดเป็นแผลได้
           • อย่ากินยาที่หมดอายุหรือเสื่อมสภาพ เช่นยามีกลิ่นน้ำส้มสายชูรุนแรง ให้ทิ้งไป
           • อย่ากินแอสไพรินแก้ปวดหัวเป็นประจำหรือจนติดเป็นนิสัย เพราะอาจทำให้อาการกำเริบมากขึ้น (เช่น ปวดหัวทุกวันตอนเช้า) ซึ่งรักษายาก
ด้วยความที่ยาแอสไพรินมีผลข้างเคียงจากการใช้ยา ทำให้ในปัจจุบันนิยมหันมา ใช้พาราเซตามอลแก้ปวดลดไข้แทน เพราะพาราเซตามอลมีสรรพคุณในการแก้ไข้ แก้ปวดลดไข้ ได้ดีพอ ๆ กัน และไม่ทำให้เป็นโรคกระเพาะแทรกซ้อน ถึงแม้ว่าแอสไพรินจะมีผลข้างเคียงตามมา แต่ประโยชน์ก็มีไม่น้อย เพียงแต่ผู้ใช้ต้องพึงระวังทุกครั้งเมื่อต้องการใช้ยาแอสไพริน และเพื่อความปลอดภัยควรปรึกษาแพทย์ และเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยา



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น